แนวทางการออกแบบโครงสร้างคอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับบ้านทรงไทย
STRUCTURAL DESIGN CONSIDERATION FOR PRECAST CONCRETE TRADITIONAL THAI HOUSE
กานต์ แถวสามารถ (Mr.Kan Thaewsamart)1
ปรีดา พิชยาพันธ์ (Preda Pichayapan)2
สสิกรณ์ เหลืองวิชชเจริญ (Sasikorn Leungvichcharoen)3
บ้านทรงไทยเอกลักษณ์ประจำชาติไทย มีลักษณะเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย มีการล้มสอบของเสาเพื่อการทรงตัวและต้านทานแรงกระทำด้านข้างจากภายนอก เป็นโครงสร้างไม้สำเร็จรูปที่มีการต่อเชื่อมเสาและคานโดยการสอดเข้าไม้ ซึ่งในยุคปัจจุบันหากต้องการก่อสร้างบ้านทรงไทยที่ทำด้วยคอนกรีต วิธีการสอดอาจไม่เหมาะสมนัก รวมทั้งการล้มสอบของเสาเองอาจไม่มีความจำเป็น บทความนี้ศึกษาพฤติกรรมของโครงสร้าง สำหรับขนาดของมุมล้มสอบและรูปแบบการต่อเชื่อมเสาและคาน ในลักษณะที่เป็น ข้อต่อยึดแน่น และ ข้อต่อยึดหมุน โดยการรวมแรงที่กระทำบนโครงสร้างตามมาตรฐาน ACI318-89 เมื่อแรงกระทำในแนวดิ่งได้แก่ น้ำหนักบรรทุกคงที่ และน้ำหนักบรรทุกจร และแรงกระทำในแนวด้านข้าง ได้แก่ แรงลมและแรงแผ่นดินไหว จากการศึกษาพบว่า ในกรณีที่มุมล้มสอบไม่เกิน 6 องศา แรงปฏิกิริยาและโมเมนต์ภายในชิ้นส่วน ที่เกิดจาก แรงกระทำในแนวดิ่งร่วมกับแรงลมจะมีค่าสูงที่สุด แต่เมื่อมุมล้มสอบมีค่ามากกว่า 6 องศา สำหรับโครงสร้างแบบข้อต่อยึดแน่น โมเมนต์สูงสุดจะได้จากแรงกระทำในแนวดิ่งร่วมกับแรงแผ่นดินไหว และสำหรับโครงสร้างแบบข้อต่อยึดหมุน โมเมนต์สูงสุดจะได้จากแรงกระทำในแนวดิ่งร่วมกับแรงลม และไม่มีกรณีใดเลยที่แรงกระทำในแนวดิ่งเพียงอย่างเดียวจะให้ค่าแรงสูงสุดที่ใช้ในการออกแบบ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก eng.nu.ac.th

